How to สอบผ่าน N1 ในครั้งเดียว!

Kochanok
4 min readApr 22, 2020

--

How To ผ่าน N1 ในครั้งแรกที่สอบ

How To ผ่าน N1 ในครั้งแรกที่สอบ

วิธีการเตรียมตัวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น(JLPT)ขั้นสุดท้ายในเวลา 2 เดือน

ในบทความนี้เราจะมาแชร์วิธีการเตรียมตัวสอบที่เราคิดเอง ใช้เอง และก็ได้ผลลัพธ์มาอย่างที่เห็นด้านล่าง ก็เลยคิด(ไป)เองว่าน่าจะได้ผลกับคนออื่นๆด้วยเหมือนกัน :-)

(เช็กผลสอบ) ณ หน้าจอที่ระบุผลสอบ
ค่อยๆเปิดออกทีละนิด โอ้ย ลุ้นไม่ไหว เปิดเลยแล้วกัน!

ใ น ที่ สุ ด ก็ ไ ด้ N 1 มา ค ร อ บ ค ร อ ง !

สำหรับ N1 จะต้องได้ 19 คะแนนขึ้นไปในแต่ละพาร์ท และคะแนนรวมถึง 100 ขึ้นไป ถึงจะนับว่าผ่าน ซึ่งคะแนน reading ก็ไม่ค่อยจะสวยเท่าไรเพราะอ่านไม่ทันไปสองเรื่อง แต่ก็รอดมาได้

กว่าจะถึงวันนี้…เสียหายไปเท่าไรกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น(มาก!) แต่ไม่เคยเสียดายเลยเว้ย!

📌เข้าเรื่องตรงนี้

ทำอะไรบ้างก่อนสอบ N1?

บอกก่อนว่าอ่านสอบ N1 ด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด แต่จะมีติว reading กับพี่ที่มีประสบการณ์สอบได้คะแนนเต็มในพาร์ท reading ด้วย เพราะฉะนั้นวิธีอ่านเตรียมสอบนี่ก็คิดเอาเอง อาจจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คกับคนอื่นก็ได้

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราเพิ่งกลับมาอยู่ไทย(ไปเรียนภาษามาประมาณ 1 ปี) ก็เหลือเวลา 2 เดือนก่อนสอบพอดี คิดว่าน้อยมากเพราะไม่ได้อ่านมาก่อนเลย ตอนเรียนก็เรียนในห้องที่สอนระดับ N2 ซึ่งก็เป็นห้องที่สูงสุดแล้ว เนื่องจากนักเรียนที่จะรวมเป็นห้อง N1 มันไม่พอเลยก็เลยต้องเรียนรวมกันไป

เราคิดไว้ก่อนว่า “ถ้าจะสอบแล้วต้องผ่าน” ใจจะได้ฮึกเหิม ไม่ปวกเปียกคิดว่าครั้งหน้าค่อยเอาใหม่ คือต้องมีวินัยกับตัวเองในการอ่านหนักๆช่วงหนึ่งเลย อ่านทุกวันตลอด 2 เดือนจริงๆ เนี่ยยเหมาะกับช่วงกักตัวแบบนี้สุดๆ

อ่านตรงนี้ก่อนๆ

ออกตัวก่อนว่าเรายังไม่เก่งไม่ได้พูดคล่องปรือ ประสบการณ์ล่ามก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่เราก็สอบผ่านมาได้แล้วทุกคน เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าทุกคนก็จะสอบผ่านได้เช่นกัน โดยเฉพาะพี่ๆชาวล่ามทั้งหลาย ถึงเราจะมี N1 แต่เรายังพูดไม่ได้ขนาดพี่ๆเลย ถ้าเราผ่านเชื่อว่าทุกคนก็เอาอยู่หมดแหละ

วิธีอ่านของเราแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ

  1. อ่านและทำความเข้าใจ(input) — 1 เดือนแรก
  2. ทำแบบฝึกหัดและทบทวน(output)ー 1 เดือนหลัง

✍🏼VOCABS คือพื้นฐาน

ส่วนตัวเราคิดว่า vocabs สำคัญที่สุด เพราะมันต้องใช้ทุกพาร์ทเลย

  • ไม่รู้ศัพท์ก็ไม่เข้าใจบทสนทนาใน listening
  • ไม่เข้าใจบทความใน reading
  • และการรู้ศัพท์จะช่วยเดา grammar ที่เราไม่รู้ได้ด้วย

พอเลือกได้ว่าจะอ่านศัพท์ก่อน ก็หาหนังสือศัพท์มาอ่านแต่อยู่ๆจะดุ่มๆอ่านไม่ได้ “ต้องบริหารเวลา” ตอนนั้นเราเหลือเวลาอยู่ 2 เดือนพอดีก่อนถึงวันสอบ (1 ธ.ค. 2019) ก็ค่อนข้างกระชั้นชิด แต่มันเร็วไปที่จะยอมแพ้!

หนังสือที่ใช้

เราเริ่มอ่านเล่มนี้ はじめての日本語能力 N1 単語 3000 เป็นเล่มแรก แต่มีคนบอกว่าอ่านเล่ม スピードマスター 2800 ดีกว่า เราก็เลยลองอ่านด้วยนิดหน่อยตอนใกล้ๆสอบแล้ว แต่ไม่ค่อยมีเวลาแล้วก็เลยใช้วิธีฟัง CD แทน

เราเลือกอ่านเล่มซ้ายทั้งเล่มจบ ใน 2 อาทิตย์แรกที่เริ่มอ่าน ส่วนเล่มขวามาอ่านเอาตอนหลังๆแล้ว แต่ไม่ได้ใช้เวลากับมันเยอะ ใช้วิธีเปิด CD ฟัง(*)แทน

อ่านศัพท์ 3,000 คำ ใน 2 สัปดาห์!

ศัพท์ 3,000 คำ แบ่งอ่านยังไงดี? มี 14 บท อ่ะ! งั้นวันละบทไปเลย! ก็ตกวันละประมาณ 200 กว่าคำ…แต่ไม่อยากให้ไปคิดถึงเรื่องนั้น เราไม่ได้จำได้ทุกคำหรอก แต่เราต้องให้มันผ่านตาเราสักครั้ง แต่ก็ไม่ใช่เปิดผ่าน ต้องพยายามเข้าใจที่มาที่ไป การใช้งาน ตอนที่เราหาข้อมูลหาที่มามันจะค่อยๆซึมไปเองอยู่แล้ว

🔑 How to

อ่านวันละ 1 บทให้เข้าใจ แล้วพิมพ์ใส่แอพ flashcard ในมือถือเพื่อจะได้ทวนซ้ำๆเวลาว่างๆเช่นตอนเดินทาง ขึ้นลิฟต์ ขึ้นรถไฟฟ้า รออาหารมาเสิร์ฟ ฯลฯ

อ่านผ่านตา ทำไมเราคิดว่าวิธีนี้จะเวิร์ค?

Hacking language learning: Benny Lewis

เพราะเราดู tedtalk ของคนนี้ เกี่ยวกับการบันทึกความจำของสมอง ประเด็นที่เราสนใจคือส่วนที่เขาบอกว่า

“ความแม่นยำของการจำขึ้นอยู่กับความถี่ในการเจอคำนั้นๆ”

แล้วเราคิดว่าการลำดับให้อ่านศัพท์ก่อนจะทำให้เราไปอ่านส่วนอื่นง่ายขึ้น เพราะเราจะต้องเจอคำศัพท์เดิมหรือคำคล้ายๆกันในส่วน reading และ grammar อีกอยู่แล้วไม่ต้องรีบจำได้ก็ได้แล้วเราจะกลับมาทวนคำศัพท์อีกครั้งในสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันสอบโดยจะเช็กความเข้าใจด้วยการ “ติ๊ก”

☑ติ๊กคำที่เข้าใจหรือรู้ความหมายโดยไม่ดูคำแปล

⏰ : ใช้เวลาอ่าน vocabs ไป 2 สัปดาห์
>> เหลือเวลาอีก 7 สัปดาห์

✍🏼GRAMMAR ผิดชีวิตเปลี่ยน

นอกจาก vocabs แล้ว สิ่งที่ควรต้องรู้อีกอย่างก่อนจะเริ่มทำแบบฝึกหัดก็คือไวยากรณ์ ถ้าแม่นไวยากรณ์ เราก็จะทำ reading ได้คล่องแคล่วด้วย

ข้อควรระวังในการอ่านไวยากรณ์ N1 คือ “การเข้าใจไม่จริง”

เพราะในระดับ N1 เราจะต้องเข้าใจไวยากรณ์ทุกระดับมาแล้ว และที่ท้าทายกว่าคือเราจะต้องเข้าใจความแตกต่างของไวยากรณ์ที่คล้ายกัน หรือไวยากรณ์ที่ใช้แทนกันได้

  • ไวยากรณ์หน้าตาคล้าย เช่น
    といえば ⚡️とはいえ
    次第 ⚡️ 次第だ
    ないではいられない ⚡️ないではおかない
  • ไวยากรณ์ที่ใช้ในสถานการณ์คล้ายกันหรือความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
    からみて ⚡️ことから
    かたがた⚡️がてら

ถึงแม้การทำความเข้าใจไวยากรณ์จะใช้พลังสมองมากก็ตาม แต่ถ้าเราแยกแยะความแตกต่างของไวยากรณ์ที่คล้ายกันเหล่านี้ได้ พาร์ทไวยากรณ์ก็จะไม่ยากเกินเอื้อม!

หนังสือที่ใช้

TRY N1 ฉบับภาษาอังกฤษ (มีฉบับภาษาไทย)

🔑 How to:

สำหรับคนไม่มีเวลา แนะนำปริ้น similar sentence pattern list กับ list รวมไวยากรณ์ตั้งแต่ あ ถึง を ที่อยู่ท้ายหนังสือออกมา ตัวไหนเข้าใจแล้วก็ข้ามไปได้ ตัวไหนไม่เข้าใจค่อยอ่านและจดไว้ในแผ่นนั้นเลย (เราแนะนำให้ดูคำอธิบายในคลิปและในพจนานุกรมไวยากรณ์เพิ่มด้วย*)

เราเลือกอ่านเล่ม TRY N1 ทั้งเล่มซึ่งอันนี้เราไม่ได้กำหนดไว้ว่าอ่านวันละกี่บท แค่ทดไว้ในใจว่าจะให้ 1 สัปดาห์เป็น intensive grammar week

เพราะอยากโฟกัสกับไวยากรณ์แต่ละตัวมากๆ ส่วนใหญ่คำอธิบายในหนังสือจะไม่เพียงพอ เราดูประโยคตัวอย่างจากในเนตเพิ่มหรือไม่ก็ดูคลิปที่อธิบายไวยากรณ์ตัวนั้น แล้วจดออกมาใส่กระดาษตามความเข้าใจตัวเอง

ส่วนตัวเราเน้นว่าจดใส่กระดาษ เป็นกระดาษ reuse ด้วย เพราะเรารู้สึกว่าอยากให้การจดนี้ “เน้นความเข้าใจไม่เน้นสวย” เละเทะในแบบที่ตัวเองเข้าใจได้เลย ถ้าเราจดใส่หนังสืออาจจะทำให้เรากังวลว่าจะต้องลำดับการจดอย่างไรให้ออกมาดี (ถ้ามีเวลามากๆจะจดใส่สมุดไว้ให้เป็นเรื่องเป็นราวก็แล้วแต่ชอบเลย)

จดตัวใหญ่ๆมันเห็นชัดจำง่ายดี หน้าละ2ไวยากรณ์พอ

Tips: ไม่ต้องจดสรุปเก่งก็ได้ แค่ให้ได้เขียนออกมาจะได้โฟกัสกับมัน การเขียนจะช่วยให้เราจำได้มากขึ้นด้วย อย่างในรูปอันนี้เราแค่อยากจดตัวอย่างประโยคที่ดูในคลิปกับเจอในหนังสือออกมา พยายามหาสมการของมัน

🍄 สุดท้ายอ่านตารางเปรียบเทียบไวยากรณ์ที่คล้ายกัน(รวมตั้งแต่N3-N1)อยู่ท้ายเล่ม TRY N1 มีประโยชน์มากกกกกกกกก

similar sentence pattern list

ตอนแรกกะว่าจะแค่เอามาดูผ่านๆ เช็กอันที่ไม่เข้าใจ แต่ไปๆมาๆรู้สึกว่าควรจดสรุปสั้นๆไว้แต่ละอัน เวลาลืมก็มาดูแผ่นนี้เหมือนเป็นคู่มือได้เลย ก็เลยปริ้นออกมาเขียน

พวกคำอธิบายไวยากรณ์เราดูในหนังสือ TRY N1 ด้วย ในเนตด้วย เปิดดูในพจนานุกรมรวมไวยากรณ์ด้วย ถ้าไม่เข้าใจจริงๆจะไปถามเจ้าของภาษา(เปิดดิกแล้วแต่ก็ยังไม่เข้าใจความหมายทำยังไงดี?)

สรุป: อ่าน TRY N1, จดตามความเข้าใจใส่กระดาษ, อ่านตารางเปรียบเทียบเช็กความเข้าใจ, ดูคลิป nihongo no mori*, เปิดดูความหมายในพจนานุกรมไวยากรณ์*

⏰ : ใช้เวลากับไวยากรณ์อีกประมาณ 1 สัปดาห์
>>เหลือเวลา 6 สัปดาห์

✍🏼KANJI นั้นสำคัญไฉน

อ่านศัพท์ไปแล้วก็จริงแต่ไม่ได้อ่าน kanji มันไม่อุ่นใจ แล้วบอกเลยว่าศัพท์ที่ได้จากคันจิ เจอในพาร์ทคำศัพท์เยอะมาก!(ถึงจะอ่านไม่จบก็ตาม)

-หนังสือที่ใช้-

新完全マスター漢字 N1

新完全マスター漢字 N1

แนะนำเล่มนี้ แต่เราอ่านไม่จบนะ อ่านถึงประมาณบท 9 ซึ่งส่วนใหญ่เป็น verb ซึ่งก็คิดว่าโชคดีที่ในข้อสอบออกมาเยอะเลย

ถ่ายเอกสารเพื่อการศึกษา

🔑 How to:

เราซีรอกหน้าที่เราอยากจะอ่านออกมา จะได้พกพาไปอ่านได้ทุกที่ สะดวกๆ แล้วก็จดง่ายกว่าด้วยเพราะจะได้พื้นที่หน้าคำมาจดเพิ่ม

⏰ ใช้เวลาอ่าน kanji อีกประมาณ 1 สัปดาห์
>>เหลือเวลา 5 สัปดาห์

📌ครึ่งทางแล้ว!

💪🏼DO IT ทำตัวอย่างข้อสอบเยอะๆ

1 เดือนสุดท้ายก่อนสอบละเราจะต้องฝึกทำข้อสอบให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ฝึกดึง input ออกมาใช้

-หนังสือที่ใช้-

合格できる日本語能力試験 N1 กับ 日本語能力試験スーパー模試*

合格できる N1 – เลือกเล่มนี้เพราะตอนสอบ N2 ก็อ่านของอันนี้แล้วรู้สึกว่ามันครบดี ลองไปขอที่ร้านหนังสือเปิดดูก่อนก็ได้ว่าโอเคมั้ย

💪🏼LEARN WITH PRO

วิธีการเรียนที่ดีที่สุดอีกวิธีก็คือเรียนกับคนที่ผ่านมาแล้ว

คำศัพท์เอย ไวยากรณ์เอย เป็นสิ่งที่ศึกษาเองได้ แต่ในส่วนของ reading เราไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร เห็นคนตกม้าตายเพราะพาร์ทนี้มาก็หลายคน ก็อย่างที่ทุกคนเห็นคะแนนเรา reading คือน้อยที่สุดแล้ว เพราะงั้นเราก็คิดๆอยู่แหละว่าจะถามใครสักคน ประจวบเหมาะกับตอนนั้นมีพี่คนนึงมาโพสต์รับติว reading N1 โดยเฉพาะ เรียน 10 ครั้งครั้งละ 3 ชม ที่เรียนก็ไม่ไกลเท่าไรก็เลยทักไปถามดู จริงๆตอนนั้นเราเองก็มีสอนภาษาญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน ไหนจะอ่านเอง ไหนจะเตรียมสอน ก็คิดว่าต้องคำนวณเวลาดีๆว่ามันจะไหวมั้ย แต่พี่เขาไม่ได้ธรรมดา ดีกรี reading 60/60 เราก็คิดว่าคุ้มวะ! แล้วก็คุ้มจริงๆนะเพราะได้เทคนิคมาเยอะ ใครอยากรู้เทคนิคต้องไปเรียนกับพี่เขาเองน้า เราถือว่าเทคนิคของเขาก็ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเนอะ แต่บอกได้ว่าเรียนหนังสือเล่มนี้ 日本語能力試験 N1読解 必修パターン มีหลายๆ pattern ให้ลองทำทั้งยากทั้งง่ายปนๆกัน ใครสนใจเรียนก็ติดต่อ เพจติวN1ผู้สอนคะแนนเต็มพาร์ทอ่านเลย

📌จบแล้วจ้า!

หนังสือ youtube channel และ app ที่เราใช้ตอนอ่านสอบที่เราใช้ตอนสอบ N1

สรุป(มั้ง)

VOCABS

  • อ่านศัพท์ N1เล่มนกฮูก 3,000 คำ’ ให้จบเล่ม (ผ่านๆตา)
    ⏰ 2 สัปดาห์แรก
  • ใช้แอพสร้าง flashcard คำศัพท์ไว้ในมือถือ อ่านเมื่อว่าง อ่านเมื่อลืม
    ⏰ ตั้งแต่เริ่มอ่านจนถึงวันสอบ

GRAMMAR

  • อ่านเล่ม TRY N1’
    ประมาณ 1 สัปดาห์(หลังอ่านศัพท์จบก็เริ่มอ่านเลย)
  • ปริ้น ☑︎ checklist แกรมม่าออกมา
    ⏰ อันนี้เรามาทำประมาณอาทิตย์สุดท้ายก่อนสอบเพราะเพิ่งคิดได้ แต่มันเวิร์คมากๆ

LISTENING
(เป็นส่วนที่ไม่รู้จะแนะนำเป็นขั้นเป็นตอนยังไงแต่ที่พอจะแยกรูปแบบออกมาได้ก็คงจะประมาณนี้)

  • ดูอะไรก็ได้ที่อยากดูเป็นภาษาญี่ปุ่น ถือเป็นการผ่อนคลายไปในตัวด้วย
    (เราว่าการฟังเป็นพาร์ทที่ต้องให้สมองเขาโล่งๆจะได้รับข้อมูลได้ดี)
    ⏰ เวลาที่อยากผ่อนคลายแต่ก็รู้ว่าต้องเตรียมตัวสอบ
  • ทำแบบฝึกหัดการฟังในเล่ม ‘合格できるN1’ กับ スーパー模試N1 (อันหลังเราเปิดฟังเวลาที่ไม่สามารถหยิบหนังสือมาอ่านได้ เช่นอยู่บนรถไฟฟ้า หรือไม่มีหนังสือติดตัว)
    ⏰ จริงๆอันนี้ไม่ได้กำหนดเลย อยากหยิบมาทำตอนไหนก็ทำ

KANJI

  • ‘新完成マスター漢字N1’
    ⏰อยากอ่านให้จบนะแต่ได้ถึงแค่บท 9 ​แล้วก็ไปทำแบบฝึกหัดกับ reading เยอะๆแทน
  • ตั้งค่ามือถือให้เป็นภาษาญี่ปุ่น เพื่อความคุ้นชิน เวลาเห็นคำก็ให้นึกเสียงอ่านขึ้นมาในหัวด้วยเสมอ(วิธีนี้จะได้ทั้ง listening และ kanji)

READING

อื่นๆที่ดูหรือฟังช่วงเตรียมสอบ

Vocabs

日本語単語スピードマスター Part1
日本語単語スピードマスター Part2

Grammar playlist

JLPT N1 Grammar /Hina Sensei
Japanese language lessons! JLPT N1 Grammar /Kawama Sensei
Japanese lesson JLPT N1 文法 実践問題/Yuha Sensei

คำเลียนเสียงธรรมชาติ หรือคำเลียนสภาพ

เช่น すやすや ぱりぱり つるつる
オノマトペ(擬態語・擬声語)/Noriko Sensei

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านกันมาที่ตรงนี้ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์นะคะ ถ้าชอบฝากกด clap ให้กำลังใจกันหน่อยค้าบ ไว้พบกันใหม่ :-)

Follow me at
Instagram : gonggong.channel
Twitter: gonggong.channel

Facebook page: gonggong.channel

--

--