ซูชิ กับ ชาริ — Sushi & Shari

Kochanok
3 min readApr 15, 2020

--

แล้วเกี่ยวอะไรกับพระพุทธเจ้า?

This is Sushi.

บทความนี้เกี่ยวกับ?
ในบทความนี้จะพูดถึงที่มาของคำในภาษาญี่ปุ่นเกี่ยวกับซูชิ ซึ่งแบ่งออกเป็น ก้อนข้าวซูชิและส่วนหน้าซูชิ มีการแทรกคำภาษาญี่ปุ่นพร้อมคำอ่านและคำแปล มีรูปภาพประกอบด้วย

ก่อนจะเฉลยถึงความเกี่ยวข้องของซูชิกับพระพุทธเจ้าเราขอสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับซูชิกับซาชิมิให้ตรงกันก่อน

ซูชิกับซาชิมิ

“ซูชิ”(寿司) คือ ข้าวปั้นที่มีหน้าโป๊ะบนข้าว หน้าซูชิเป็นได้หลายอย่างที่นิยมกันมากก็คือแซลมอน ทูน่า โฮตะเตะ เป็นต้น

ในขณะที่ “ชาชิมิ” (刺身) คือปลาดิบที่ไม่ได้ปรุงรสใดใด แค่แล่มาเสิร์ฟใส่จานการตกแต่งจานขึ้นอยู่กับร้าน

สิ่งที่เราให้ความสนใจวันนี้คือส่วนที่คนมักไม่ให้ความสนใจแถมถูกทิ้งอยู่บ่อยๆ ก็คือ ส่วนก้อนข้าวปั้นที่อยู่ใต้ปลาดิบนั้นเอง

ข้าวซูชิหรือชาริ(しゃり)

ข้าวใต้ตัวปลา หรือ ข้าวซูชิ(しゃり)

ข้าวซูชิ =ชาริ (しゃり)
คือข้าวที่ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู เกลือ และน้ำตาล ปั้นเป็นก้อนๆแบบที่เห็น

ถ้าใครพอมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นอยู่บ้างจะรู้ว่า คำว่า “ข้าวสวย” ของญี่ปุ่นจริงๆแล้วคือ โกฮัง (ごはん) ซึ่งทำให้เราก็เกิดความสงสัยว่าเป็นข้าวเหมือนกันทำไมถึงไม่เรียกว่า โกฮัง เลยไปสืบหาที่มาที่ไปมา

ลองดูรูปก่อน รูปเปรียบเทียบระหว่าง โกฮัง กับ ชาริ

ผลการค้นหาคำว่า โกฮัง(ごはん)ใน google
ผลการค้นหาคำว่า ชาริ(しゃり) ใน google

ทำไมชาริแปลว่าข้าว?

จริงๆแล้วคำว่า ชาริ (しゃり) มาจากคำว่า 仏舎利 (บุดชาริ) แปลว่า พระบรมสารีริกธาตุ หรือ อัฐิของพระพุทธเจ้า ว่ากันว่าคนที่เริ่มใช้คำนี้ก่อนคือบรรดาพระสงฆ์ในสมัยเอโดะ

ตามตำนานเล่าว่าพระสงฆ์ในสมัยนั้นเห็นว่าอัฐิของพระพุทธเจ้ามีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆเปล่งประกาย ดูแล้วคล้ายข้าวสวย จากนั้นก็เลยบอกต่อๆกันกลายเป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป ลามไปถึงร้านซูชิด้วย

อีกที่มานึงบอกว่าเป็นเรื่องของการเคารพ เพราะใจที่เคารพให้คุณค่ากับข้าวแต่ละเม็ดจนเปรียบข้าวเหมือนกับพระบรมสารีริกธาตุหรือบุดชาริที่มีความสำคัญอย่างมาก ก็เลยเรียกข้าวว่าชาริเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ อะไรประมาณนี้

ในเรื่องนี้ก็พอจะประติดประต่อความคิดของชาวญี่ปุ่นได้อยู่นะ ก็คงจะอารมณ์คล้ายๆกับที่เขาเชื่อว่ามีเทพอยู่ในทุกๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรืออาหาร รวมถึงตัวซูชิเองด้วย จริงๆคนญี่ปุ่นจะเรียกว่า “โอซูชิ” แทนที่จะเรียก “ซูชิ” เฉยๆแบบที่เราเรียกกัน เพราะการใส่ “โอ” (お) ไปข้างหน้าคำคือการแสดงความยกย่องสิ่งนั้น เหมือนกับคำว่า โอคาเนะ ที่แปลว่าเงิน หรือ โอจ๊ะ ที่แปลว่า ชา เป็นต้น

ยังมีอีกที่มาที่บอกว่าเป็นการเล่นคำ เขาบอกว่าที่เรียกข้าวว่า ชาริ เพราะข้าวมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายกับก้อนกรวด ซึ่งคำว่าก้อนกรวดในภาษาญี่ปุ่นคือ จาริ(砂利) ชาริก็อาจจะมาจากการเล่นคำว่า จาริ ก็ได้

ในการเล่นคำนี้แบบนี้ ส่วนตัวเราไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไร มันจะเป็นยังไงถ้าลองนึกการเล่นคำแบบเดียวกันในภาษาไทย? สิ่งนี้ดูคล้ายๆก้อนกรวดดีนะ เรามาเรียกมันว่า “ครวด” ดีกว่า ฟังดูแล้วไม่ค่อยสมเหตุสมผลเลย

เพราะงั้นโดยส่วนตัวคิดว่า ที่มาเรื่องพระบรมสารีริกธาตุ บวกกับในยุคสงครามข้าวสวยก็หาได้ยาก อาจทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าเป็นสิ่งมีค่าต้องให้ความเคารพไม่ต่างจากพระบรมสารีริกธาตุ เรื่องนี้ดูจะมีน้ำหนักมากกว่า

ยังไงก็แล้วแต่ การที่คำว่าข้าวซูชินั้นมาจากคำว่าพระบรมสารีริกธาตุเนี่ย เป็นสิ่งที่คิดไม่ถึงเลยจริงๆ แว๊บแรกที่อ่านต้องย้อนกลับไปอ่านใหม่ แบบห้ะ มาได้ไง? หาความเชื่อมโยงไม่ได้เลยจริงๆ แต่ที่งงกว่านั้นคือ

ทำไมในปัจจุบันคำว่า ชาริ ถึงได้หมายถึงก้อนข้าวซูชิเท่านั้น ทำไมถึงไม่ใช่กับข้าวสวยทั่วไปด้วย อันนี้เราก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน ถ้ามีใครรู้มาบอกเราด้วยคนนะ

แค่ส่วนล่างของซูชิก็ทำให้เราฉงนมากแล้วแต่ความฉงนยังไม่หมด เรามาดูส่วนบนของซูชิ หรือหน้าซูชิที่หลายๆคนชื่นชอบกันดีกว่า

หน้าซูชิหรือเนะตะ(ネタ)

หน้าซูชิ หรือ เนะตะ(ネタ)
หน้าต่างๆของซูชิ

เนะตะคืออะไร?

เนะตะ (ネタ) หมายถึง หน้าซูชิ
คือหน้าต่างๆที่โป๊ะบนข้าวปั้น ไม่ว่าจะเป็น หน้าแซลมอล หน้าทูน่า หน้ากุ้ง หน้าไข่กุ้ง หน้าไข่หวาน หน้าโฮตะเตะ และอีกมากมาย เหมือนรูปด้านบน

“เนะตะ” มาจากคำว่า “ทาเนะ” ซึ่งเป็นการสลับพยางค์กัน!
ネタ(neta) ータネ(tane)

種 →タネ(tane)→ネタ(neta)

“ทาเนะ” เขียนด้วยคันจิ ‘種’ และเขียนเป็นคาตาคานะได้ว่า ‘タネ’ แปลว่า เมล็ดของพืช และมีความหมายโดยนัยหมายถึง…

“ส่วนที่สำคัญที่สุดหรือสิ่งที่เป็นแก่นหรือใจกลางสำคัญของสิ่งๆหนึ่ง”

ส่วนตัวคิดว่า การเอาคำว่า “เนะตะ” มาใช้กับ หน้าซูชิ อาจต้องการสื่อว่า หน้าซูชิก็คือ หน้าตาของซูชิ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของซูชิชิ้นนั้น

อันนี้ก็ไม่เกทว่าทำไมเขาต้องสลับคำกันให้มันวุ่นวายแต่ก็พอจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการสลับคำของคนญี่ปุ่นอยู่บ้าง ถ้าใครสนใจติดตามบทความต่อไปน้า

ความหมายอื่นของเนะตะ

คำว่า “เนะตะ” (ネタ) ไม่ได้แปลว่า หน้าซูชิ แค่อย่างเดียว ยังมีความหมายอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยอีก ดังนี้

  1. มุขตลก เรื่องตลกๆ
    พวกมุขตลกหรือแก๊กอะไรฮาๆ บางมีเราจะไม่เกทเลยทันที จะต้องคิดตาม หรือมาคิดตามมุกนั้นซ้ำอีกทีก่อนถึงจะ “เกทมุข” ไอสิ่งที่เราเกทเนี่ยแหละคือ “เนะตะ” ー จุดที่ทำให้ฮา ถ้าจะแปลให้ตรงก็ประมาณว่า “เนื้อหาที่ทำให้ฮา”​ หรืออาจจะหมายถึงท่าทางที่ทำให้ฮาก็ได้
    เช่น มุขเสื่อม มุขใต้สะดือ “ชิตะเนะตะ” 下ネタ(dirty jokes) มุกประจำตัว “โมจิเนะตะ” 持ちネタ
  2. หัวข้อใน TV show
    ในญี่ปุ่นมีรายการวาไรตี้เยอะมาก แต่ละรายการก็มี “หัวข้อ” หรือ “topic” ต่างๆกันไป คำว่า topic ในรายการเหล่านี้จะใช้คำว่า เนะตะ
  3. เนื้อหา(ของภาพยนตร์)
    “เนะตะบาเระ”(ネタバレ) ก็คือการสปอยเนื้อหา “เนะตะ” ในที่นี้หมายถึงเรื่องราวในภาพยนตร์ ละคร หรือหนังสือ
    เช่น การเตือนว่าจะมีการสปอยเนื้อหาก็คือ ネタバレ注意 (spoiler alert)
  4. หลักฐาน/ที่มาของข่าว
    ที่มา หรือ แหล่งอ้างอิงของเนื้อหาข่าวนั้นๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นหนังสือก็ได้ แต่เป็นมูลที่มาที่ทำให้ข่าวนั้นน่าเชื่อถือ ทำให้สิ่งทร่พูดมีน้ำหนัก : ตัวอย่างการใช้ ブログネタがない (บูโระกุ เนะตะ กะ ไน๊)= บล็อกที่ไม่มีที่มา

อันที่จริงถึงแม้ว่าความหมายของ “เนะตะ” (ネタ) จะแตกออกไปจนดูเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวกันเลยก็ตาม แต่ถ้าลองพิจารณาดูดีๆแล้ว จะเห็นว่ารากของ “เนะตะ” (ネタ)ในทุกบริบทจะวนกลับไปที่ความหมายดั้งเดิม…

“ส่วนที่สำคัญที่สุดหรือสิ่งที่เป็นแก่นหรือใจกลางสำคัญของสิ่งๆหนึ่ง”

ส่วนที่สำคัญที่สุดของมุกตลกก็คือ จุดที่ทำให้มันฮา

ส่วนที่สำคัญที่สุดของรายการทีวีก็คือ หัวข้อที่น่าสนใจ

ส่วนที่สำคัญที่สุดของภาพยนตร์ ละคร หรือหนังสือ ก็คือ เรื่องราวในนั้น

ส่วนที่สำคัญที่สุดของบทความ ข่าวใดใดก็คือ ที่มา หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

สรุป

ความตั้งใจที่เขียนบทความนี้ขึ้นเพราะอยากจะแชร์ความรู้เกี่ยวกับซูชิและที่มาที่ไปของภาษาที่เราก็เพิ่งได้รู้เหมือนกัน และคิดว่ามันน่าสนใจ ทำให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารประจำชาติของญี่ปุ่นรวมถึงการให้คุณค่าและวัฒนธรรมของเขามากขึ้น คิดว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่หรือสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นหรือแค่ชอบกินอาหารญี่ปุ่น ได้เข้าใจคนญี่ปุ่นมากขึ้นและต่อไปเวลาไปญี่ปุ่นก็ลองเปลี่ยนมาเรียกซูชิว่า “โอซูชิ” ดูนะ

สิ่งที่คาดหวังว่าทุกคนจะได้ไปแบบสั้นๆคือแยกแยะได้ว่า ซาชิมิ ซูชิ ชาริ และเนะตะ
คืออะไร แค่นี้พอแหละ5555

สรุปศัพท์ในบทความนี้
ซูชิ(寿司) = ข้าวปั้นหน้าต่างๆ
ชาชิมิ(刺身) = ปลาดิบ
ชาริ(しゃり) = ข้าวซูชิ
เนะตะ(ネタ)= หน้าซูชิ
ทาเนะ(タネ・種)= เมล็ดของพืช
โกฮัง(ごはん)= ข้าวสวย
บุดชาริ(仏舎利) =พระบรมสารีริกธาตุ หรือ อัฐิของพระพุทธเจ้า
เนะตะบาเระ(ネタバレ)= สปอยเนื้อหา
ชิตะเนะตะ(下ネタ)=มุขเสื่อม มุกใต้สะดือ

แถม

ทั้งนี้ทั้งนั้น…ถึงแม้ว่าจะเนะตะและซาชิมิจะเป็นปลาดิบเหมือนกันแต่ให้รสชาติไม่เหมือนกัน!

เพราะ ปลาดิบที่ถูกใช้เป็นหน้าซูชิจะได้ดูดซึมเอาน้ำส้มสายชูจาก ชาริ(しゃり) ทำให้มีรสชาติ ในขณะที่ “ชาชิมิ” (刺身) คือปลาดิบที่ไม่ได้ปรุงรสใดใดที่แล่มาเสิร์ฟใส่จาน

ที่มา :ซาชิมิก็ไม่อาจแทนซูชิได้

ปีที่แล้ว(2019) เพิ่งจะเป็นประเด็นไปด้วยเรื่อง ก้อนข้าวซูชิที่ถูกทิ้งเหมือนแป้งพิซซ่าที่ถูกควักเอาแต่หน้าไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจของร้านซูชิ เพราะข้าวก็ถูกปรุงมาอย่างดีแต่กลับถูกทิ้งแบบนี้ก็ทำให้คนที่พบเห็นเข้าทนไม่ได้ อันนี้มีคนเขียนไว้อยู่แล้ว

ที่มา : “ญี่ปุ่นกำลังร้องไห้กับภาพนี้”

ขอเป็นอีกเสียงหนึ่งว่าข้าวซูชิมันก็สำคัญไม่แพ้กัน เคยกินซูชิที่จังหวัดนิกาตะที่ขึ้นชื่อว่ามีข้าวที่อร่อยที่สุด ไม่ผิดหวังเลยจริงๆ ซูชิของเขาอร่อยหวานสมคำร่ำลือจริงๆ ตอนนั้นกินร้านนี้ KaitenZuhi Honjin (回転寿し 本陣) อยู่สถานีก่อนถึง Gala Yuzawa Snow Resort หวานแบบทุกวันนี้ยังคิดถึงข้าวซูชิของร้านนี้อยู่เลยอะ แค่ไข่หวานก็อร่อยจะตายแล้ว

*แถมอีก

ควิซสำหรับคนที่ดู TERRACE HOUSE Tokyo 2019–2020 มีตอนหนึ่งที่คุณเรียวตะ ยามาซาโตะ พูดคำว่า “ชิตะเนะตะ” 下ネタ มุกใต้สะดือใบ้ว่าอยู่ part 3 ใครเจอแล้วแคปมาบอกในทวิตเตอร์ได้น้า

ขอบคุณที่อ่านกันจนจบถึงตรงนี้ฮะ ไว้เจอกันใหม่ :-)
แอฬ

Follow me at
Instagram : gonggong.channel
Twitter: gonggong.channel

--

--